5 ก.พ. 2557

ระบบขับถ่ายของเสีย (Excretory system)

ของเสีย 
         หมายถึง สารที่เกิดจากกระบวนการเมแทบอริซึม (metabolism) ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ ไม่มีประโยชน์ต่อ
ร่างกายเช่น น้ำ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ยูเรีย เป็นต้น นอกจากนี้สารที่มีประโยชน์ ์ปริมาณมากเกินไปร่างกายก็จะกำจัดออก
เมแทบอริซึม (metabolism) หมายถึงการบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต
การกำจัดของเสียในร่างกายเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น ทางไต ทางผิวหนัง ทางปอด ทางลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
:: การกำจัดของเสียทางไต ::

       ไต (Kidney)
ทำหน้าที่กำจัดของเสียในรูปของน้ำปัสสาวะ มี 1 คู่ รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วดำ อยู่ในช่องท้องสองข้างของ
กระดูกสันหลังระดับเอว ถ้าผ่าไตตามยาวจะพบว่าไตประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น คือเปลือกไตชั้นนอกกับเปลือกไตชั้นในมีขนาด
ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร บริเวณตรงกลางของไตมีส่วนเว้าเป็นกรวยไต มีหลอดไตต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ ไตแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไต (nephron) นับล้านหน่วยเป็นท่อที่ขดไปมาโดยมีปลายท่อข้างหนึ่งต้น เรียกปลายท่อที่ตันนี้ว่า “ โบว์แมนส์แคปซูล (Bowman s capsule)” ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายถ้วยภายในแอ่งจะมีกลุ่มเลือดฝอยพันกันเป็นกระจุกเรียกว่า “ โกลเมอรูลัส (glomerulus)” ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดที่ไหลผ่านไต

ที่บริเวณท่อของหน่วยไตจะมีการดูดซึมสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แร่ธาตุ น้ำตาลกลูโคส กรดอะมิโนรวมทั้งน้ำกลับคืนสู่หลอดเลือดฝอยและเข้าสู่หลอดเลือดดำ ส่วนของเสียอื่นๆ ที่เหลือคือ น้ำปัสสาวะ จะถูกส่งมาตามหลอดไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีความจุประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่กระเพาะปัสสาวะสามารถที่จะหดตัวขับน้ำปัสสาวะออกมาได เมื่อมีปัสสาวะมาคลั่งอยู่ประมาณ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งในวันหนึ่งๆ ร่างกายจะขับน้ำปัสสาวะออกมาประมาณ 1 – 1.5 ลิตร



       น้ำปัสสาวะประกอบด้วยสารต่างๆ ดังนี้ คือ น้ำ 95% โซดียม 0.35% โพแทสเซียม 0.15% คลอรีน 0.6% ฟอสเฟต 0.15% แอมโมเนีย 0.04% ยูเรีย 2.0% กรดยูริก 0.05% และครีเอทินิน 0.75%

       น้ำปัสสาวะจะประกอบไปด้วยน้ำและยูเรียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแร่ธาตุมีอยู่เล็กน้อย ถ้ามีการตกตะกอนของแร่ธาตุไปอุดตันทางเดินท่อปัสสาวะ จะทำให้ปัสสาวะลำบาก เรียกลักษณะอาการอย่างนี้ว่า “ โรคนิ่ว ”
       เมื่อไตผิดปกติจะทำให้สารบางชนิดปนออกมากับน้ำปัสสาวะ เช่น เม็ดเลือดแดง กรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส เป็นต้น ปัจจุบันแพทย์มีการใช้ไตเทียมหรืออาจจะใช้การปลูกไตให้กับผู้ป่วยที่ไตไม่สามารถทำงานได้
ไตเทียม เป็นเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย ส่วนการปลูกไตเป็นการนำไตของผู้อื่นมาใส่ให้กับผู้ป่วย 


การกำจัดของเสียทางผิวหนัง
เหงื่อ (sweat) ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ และมีสารอื่นๆ บ้างชนิดปนอยู่ด้วย เช่น เกลือโซเดียมคลอไรด์ ยูเรีย เป็นต้น เหงื่อจะถูกขับออกจากร่างกายทางผิวหนังโดยผ่านทาวต่อมเหงื่อซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกายใต้ผิวหนัง
ต่อมเหงื่อของคนเราแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ต่อมเหงื่อขนาดเล็ก มีอยู่ที่ผิวหนังทั่วทุกแห่งของร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปากและที่อวัยวะสืบพันธุ์บางส่วน ต่อมเหงื่อเหล่านี้ติดต่อกับท่อขับถ่ายซึ่งเปิดออกที่ผิวหนังชั้นนอกสุด ต่อมเหงื่อขนาดเล็กนี้สร้างเหงื่อแล้วขับถ่ายออกมาตลอดเวลา แต่เนื่องจากมีการระเหยไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น จึงมักสังเกตไม่ค่อยได้ แต่เมื่ออุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงขึ้นหรือขณะออกกำลังกายปริมาณเหงื่อที่ขับถ่ายออกมาจะเพิ่มขึ้นจนสังเกตเห็นได้ ที่อุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส จะมีการขับเหงื่อออกมาเห็นได้ชัดเจนเหงื่อจากต่อมเหงื่อขนาดเล็กเหล่านี้ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 99 สารอื่นๆ ร้อยละ 1 ซึ่งได้แก่ เกลือโซเดียมคลอไรด์และสารอินทรีย์พวกยูเรีย นอกนั้น เป็นสารอื่นอีกเล็กน้อยเช่น แอมโมเนีย กรดอะมิโน น้ำตาล กรดแลกติก
2. ต่อมเหงื่อขนาดใหญ่ ไม่ได้มีอยู่ทั่วร่างกาย พบได้เฉพาะบางแห่ง ได้แก่ รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ช่องหูส่วนนอกจมูก อวัยวะสืบพันธุ์บางส่วน ต่อมเหล่านี้มีท่อขับถ่ายใหญ่กว่าชนิดแรก และจะเปิดที่รูขนใต้ผิวหนัง ปกติจะไม่เปิดโดยตรงที่ผิวหนังชั้นนอกสุด ต่อมชนิดนี้จะทำงานตอบสนองต่อการกระตุ้นทางจิตใจ สารที่ขับถ่ายจากต่อมชนิดนี้มักมีกลิ่นซึ่งก็คือ กลิ่นตัว นั่นเอง
โครงสร้างภายในต่อมเหงื่อจะมีท่อขดอยู่เป็นกลุ่มและมีหลอดเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงโดยรอบหลอดเลือดฝอยเหล่านนี้จะลำเลียงของเสียมายังต่อมเหงื่อเมื่อของเสียมาถึงบริเวณต่อเหงื่อก็จะแพร่ออกจากหลอดเลือดฝอยเข้าสู่ท่อในต่อมเหงื่อ จากนั้นของเสีย ซึ่งก็คือ เหงื่อ จะถูกลำเลียงไปตามท่อจนถึงผิวหนังชั้นบนสุด ซึ่งมีปากท่อเปิดอยู่ หรือที่เรียกว่า รูเหงื่อ  ผิวหนังนอกจากจะทำหน้าที่กำจัดของสียในรูปของเหงื่อแล้วยังทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายด้วยโดยความร้อน ที่ขับออกจากร่างกายทางผิวหนังมีประมาณร้อยละ 87.5 ของความร้อนทั้งหมด

การกำจัดของเสียทางลำไส้ใหญ่

      หลังจากการย่อยอาหารเสร็จสิ้นลง อาหารส่วนที่เหลือและส่วนที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางลำไส้ใหญ่( ทวารหนัก ) ในรูปรวมที่เรียกว่า “ อุจจาระ ”
      ถ้าอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่หลายวัน ผนังลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำกลับเข้าไปในเส้นเลือด ทำให้อุจจาระแข็งเกิดความยากในการขับถ่าย เรียกว่า “ ท้องผูก ”
      ผู้ที่มีอาการท้องผูกจะรู้สึกแน่นท้อง อึดอัด บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือปวดหลังด้วย อาการต่างๆ เหล่านี้จะหายไปเมื่อถ่ายอุจจาระออกจากร่างกาย ผู้ที่มีอาการท้องผูกนานๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวารได้สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป กินอาหารรสจัด ถ่ายไม่เป็นเวลา เครียด สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำชาหรือกาแฟมากเกินไป ใยอาหาร ได้แก่ พืชผักต่างๆ ใยอาหารนอกจากจะไม่ทำให้ท้องผูกแล้ว ยังช่วยลดสารพิษต่างๆ ทำให้สารพิษผ่านลำไส้ใหญ่ไปอย่างรวดเร็ว ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ในลำไส้ใหญ่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่จำนวนมาก มีทั้งที่เป็นประโยชน์ ( ช่วยสังเคราะห์วิตามิน B 12 ) และโทษ (เชื้อโรคต่างต่างๆ )

:: การกำจัดของเสียทางปอด ::

    ของเสียที่ถูกกำจัดออกนอกร่างกายทางปอด ได้แก่ น้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการหายใจของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

ขั้นตอนในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายทางปอด มีดังนี้
  1. น้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นแพร่ออกจากเซลล์เข้าสู่หลอดเลือด โดยจะละลายปนอยู่ในเลือด
  2. เลือดที่มีของเสียละลายปนอยู่จะถูกลำเลียงส่งไปยังปอด โดยการลำเลียงผ่านหัวใจเพื่อส่งต่อไปแลกเปลี่ยนแก๊สที่ปอด
  3. เลือดที่มีของเสียละลายปนอยู่เมื่อไปถึงปอด ของเสียต่างๆที่สะสมอยู่ในเลือดจะแพร่ผ่านผนังของหลอดเลือดเข้าสู่ถุงลมของปอดแล้วลำเลียงไปตามหลอดลม เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย ทางจมูกพร้อมกับลมหายใจออก



ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

ระบบโครงกระดูก (Skeletal system)

ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อของร่างกายทำงานสัมพันธ์กันโดยที่โครงกระดูกเป็นโครงสร้างที่ใช้ค้ำจุนร่างกาย ให้คงรูปร่าง ป้องกันส่วนที่อ่อนนุ่มของร่างกาย และช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยการทำงานร่วมกันกับกล้ามเนื้อ
ระบบโครงกระดูก

ระบบกระดูกของมนุษย์ทำหน้าที่พยุงและป้องกันอวัยวะภายในของร่างกายตลอดจนเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อประกอบด้วย โครงกระดูกมากกว่า 200 ชิ้น
โครงกระดูกมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้
  1. ค้ำจุนละรักษารูปร่างให้ทรงตัวอยู่ได้
  2. ป้องกันอวัยวะภายในร่างกาย เช่น กระดูกซี่โครงป้องกันหัวใจ ปอด และตับกะโหลกศีรษะป้องกันเนื้อเยื่อสมอง เป็นต้น
  3. เป็นที่ยึดเกาะของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเยื่อช่วยในการเคลื่อนที่
  4. สร้างเม็ดเลือด ไขกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกจะทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
  5. เป็นแหล่งสะสมสำคัญของธาตุแคลเซียมละฟอสฟอรัส
กระดูกของคนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กระดูกแกน (Axial Skeleton) หมายถึง กระดูกที่อยู่บริเวณกลางๆ ของร่างกาย ประกอบด้วย
1.1 กระดูกกะโหลกศีรษะ (Skull) ภายในกะโหลกศีรษะเป็นโพรงสำหรับบรรจุสมอง จะมีกระดูกกะโหลกศีรษะและกระดูกย่อยหลายๆ ชิ้นเชื่อมติดกัน กระดูกกะโหลกศีรษะจึงทำหน้าที่ห่อหุ้มและป้องกันสมองด้วย
1.2 กระดูกสันหลัง (Vertebra) เป็นส่วนของกระดูกแกนที่ช่วยค้ำจุนและรองรับน้ำหนักของร่างกาย กระดูกสันหลังเป็นแนวกระดูกที่ทอดอยู่ทางด้านหลังของร่างกาย ประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ เป็นข้อๆ ติดกันด้วยกล้ามเนื้อและเอ็นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีแผ่นกระดูกอ่อนหรือที่เรียกทั่วไปว่า “ หมอนรองกระดูก (Intervertebral disc)”ทำหน้าที่รองและเชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละข้อ เพื่อป้องกันการเสียดสี ถ้าแผ่นกระดูกอ่อนนี้เสื่อมเราจะปวดหลังและไม่สามารถบิดหรือเอียงตัวได้
1.3 กระดูกซี่โครง (Ribe) มีลักษณะเป็นซี่ๆ มีทั้งหมด 12 คู่ หรือ 24 ชิ้น ทำหน้าที่เป็นกำแพงให้ส่วนอก กระดูกซี่โครงจะเชื่อมกบกระดูกอก (Sternum) ด้วยกระดูกอ่อน ระหว่างกระดูกซี่โครงมีกล้ามเนื้อยึดซี่โครงทั้งแถบนอกและแถบในการหดตัวและการคลายตัวของกล้ามเนื้อ 2 ชุดนี้สลับกันเกิดการเคลื่อนที่เข้า ออกของอากาศภายนอกและภายในช่องอกมีผลทำให้กระดุกซี่โครงเคลื่อนขึ้นและลง และทำให้ปริมาตรภายในช่องอกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
2. กระดูกรยางค์ (Appendicular Skeleton) หมายถึงโครงกระดูกที่อยู่รอบนอกกระดูกแกนซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวของแขน ขา โดยตรง รวมทั้งกระดูกสะบักและกระดูกเชิงกรานที่เป้นฐานรองกระดูกแขนและกระดูกขา
กระดูกแขนเริ่มแต่บริเวณไหล่ มีกระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้าทำหน้าที่เป็นฐานรองแขน เชื่อมโยงระหว่างกระดูกสันหลังด้านบนของลำตัวกับกระดูกต้นแขนกระดูกขาเริ่มตั้งแต่บริเวณเชิงกรานที่ต่อกับกระดูกต้นขา และจากกระดูกต้นขา มีสะบ้าหัวเข่าที่ฝังอยู่ในเอ็นของกล้ามเนื้อและต่อกับกระดูกแข็ง

ข้อต่อและเอ็นเชื่อมกระดูกข้อต่อเกิดจากกระดูกตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปที่อยู่ใกล้กันมาเชื่อมต่อกันโดยมีเอ็นละกล้ามเนื้อช่วยยึดเสริมความแข็งแรง ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น






ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory system)

การหายใจ (respiration)
เป็นการนำอากาศเข้าและออกจากร่างกาย ส่งผลให้แก๊สออกซิเจนทำปฏิกิริยากับสารอาหาร ได้พลังงาน น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ กระบวนการหายใจเกิดขึ้นกับทุกเซลล์ตลอดเวลา การหายใจจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้าง 2 ชนิดคือ กล้ามเนื้อกะบังลม และกระดูกซี่โครง ซึ่งมีกลไกการทำงานของระบบหายใจ ดังนี้



:: กลไกการทำงานของระบบหายใจ ::
1. การหายใจเข้า (Inspiration) กะบังลมจะเลื่อนต่ำลง กระดูกซี่โครงจะเลื่อนสูงขึ้น ทำให้ปริมาตรของช่องอกเพิ่มขึ้น ความดันอากาศในบริเวณรอบ ๆ ปอดลดต่ำลงกว่าอากาศภายนอก อากาศภายนอกจึงเคลื่อนเข้าสู่จมูก หลอดลม และไปยังถุงลมปอด
2. การหายใจออก (Expiration) กะบังลมจะเลื่อนสูง กระดูกซี่โครงจะเลื่อนต่ำลง ทำให้ปริมาตรของช่องอกลดน้อยลง ความดันอากาศในบริเวณรอบ ๆ ปอดสูงกว่าอากาศภายนอก อากาศภายในถุงลมปอดจึงเคลื่อนที่จากถุงลมปอดไปสู่หลอดลมและออกทางจมูก
สิ่งที่กำหนดอัตราการหายใจเข้าและออก คือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด 
  • ถ้าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดในเลือดต่ำจะทำให้การหายใจช้าลง เช่น การนอนหลับ
  • ถ้าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดในเลือดสูงจะทำให้การหายใจเร็วขึ้น เช่น การออกกำลังกาย

    การหมุนเวียนของแก๊ส
    เป็นการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจน เกิดขึ้นที่บริเวณถุงลมปอด ด้วยการแพร่ของก๊าซออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย และก๊าซออกซิเจนทำปฎิกิริยากับสารอาหารในเซลล์ของร่างกาย
    ทำให้ได้พลังงาน น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังสมการ
    .
    เอนไซม์

    ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างก๊าซออกซิเจนกับอาหารจะแพร่ออกจากเซลล์เข้าสู่หลอดเลือดฝอยและลำเลียงไปยังปอด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่เข้าสู่หลอดลมเล็กๆ ของปอดขับออกจากร่างกายพร้อมกับลมหายใจออก



    การไอ การจาม การหาวและการสะอึก
    อาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจมีดังนี้
    1. การจาม เกิดจากการหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจึงพยายามขับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกมานอกร่างกาย โดยการหายใจเข้าลึกแล้วหายใจออกทันที
    2. การหาว เกิดจากการที่มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป จึงต้องขับออกจากร่างกาย โดยการหายใจเข้ายาวและลึก เพื่อรับแก๊สออกซิเจนเข้าปอดและแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด
    3. การสะอึก เกิดจากกะบังลมหดตัวเป็นจังหวะๆ ขณะหดตัวอากาศจะถูกดันผ่านลงสู่ปอดทันที ทำให้สายเสียงสั่น
    เกิดเสียงขึ้น
    4. การไอ เป็นการหายใจอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในกล่องเสียงและหลอดลม ร่างกายจะมีการหายใจเข้ายาวและหายใจออกอย่างแรง


    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบสืบพันธุ์ (Reprodutive system)


    การสืบพันธุ์ (Reproduction) เป็นกระบวนการผลิตสิ่งมีชีวิตที่จะแพร่ลูกหลานและดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ โดยต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนไฮโพทาลามัส โดยจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศชายและหญิงให้ผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นหนุ่มสาวพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้ ต่อมเพศในชาย คือ อัณฑะ ต่อมเพศในหญิง คือ รังไข่

    ::ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ::


    อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วย
    1. อัณฑะ (Testis) 
    เป็นต่อมรูปไข่ มี 2 อัน ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Sperm) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และสร้างฮอร์โมนเพศชายเพื่อควบคุมลักษณะต่างๆของเพศชาย เช่น การมีหนวดเครา เสียงห้าว เป็นต้น ภายในอัณฑะจะประกอบด้วย หลอดสร้างตัวอสุจิ(Seminiferous Tubule) มีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ ขดไปขดมาอยู่ภายใน ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ หลอดสร้างตัวอสุจิมีข้างละประมาณ 800 หลอด แต่ละหลอดมีขนาดเท่าเส้นด้ายขนาดหยาบ และยาวทั้งหมดประมาณ 800 เมตร
    2. ถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) ทำหน้าที่ห่อหุ้มลูกอัณฑะ ควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในการสร้างตัวอสุจิ ซึ่งตัวอสุจิจะเจริญได้ดีในอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส
    3. หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epididymis) อยู่ด้านบนของอัณฑะ มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ยาวประมาณ 6 เมตร ขดทบไปมา ทำหน้าที่ เก็บตัวอสุจิจนตัวอสุจิเติบโตและแข็งแรงพร้อมที่จะปฏิสนธิ
    4. หลอดนำตัวอสุจิ (Vas Deferens) อยู่ต่อจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
    5. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicle) ทำหน้าที่สร้างอาหารเพื่อใช้เลี้ยงตัวอสุจิ เช่น น้ำตาลฟรักโทส วิตามินซี โปรตีนโกลบูลิน เป็นต้น และสร้างของเหลวมาผสมกับตัวอสุจิเพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมสำหรับตัวอสุจิ
    6. ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) อยู่ตอนต้นของท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่หลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ เข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อทำลายฤทธิ์กรดในท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ
    7. ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) อยู่ใต้ต่อมลูกหมากลงไปเป็นกระเปาะเล็กๆ ทำหน้าที่หลั่งสารไปหล่อลื่นท่อปัสสาวะในขณะที่เกิดการกระตุ้นทางเพศ
    โดยทั่วไปเพศชายจะเริ่มสร้างตัวอสุจิเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คือ อายุประมาร 12-13 ปี และจะสร้างไปจนตลอดชีวิต การหลั่งน้ำอสุจิแต่ละครั้งจะมีของเหลวประมาณ 3-4 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีตัวอสุจิเฉลี่ยประมาณ 350-500 ล้านตัว ปริมาณน้ำอสุจิและตัวอสุจิแตกต่างกันได้ตามความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย เชื้อชาติ และสภาพแวดล้อม ผู้ที่มีอสุจิต่ำกว่า 30 ล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตร หรือมีตัวอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติมากกว่าร้อยละ 25 จะมีลูกได้ยากหรือเป็นหมัน น้ำอสุจิจะถูกขับออกทางท่อปัสสาวะ และออกจากร่างกายตรงปลายสุดของอวัยวะเพศชาย ตัวอสุจิจะเคลื่อนที่ได้ประมาณ 1-3 มิลลิเมตรต่อนาที ตัวอสุจิเมื่อออกสู่ภายนอกจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในมดลูกของหญิงจะอยู่ได้นาน
    ประมาณ 24- 48 ชั่วโมง ตัวอสุจิประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนหัว เป็นส่วนที่มีนิวเคลียสอยู่ ส่วนตัวมีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว และส่วนหางเป็นส่วนที่ใช้ในการเคลื่อนที่ น้ำอสุจิจะมีค่า pH ประมาณ 7.35-7.50 มีสภาวะค่อนข้างเป็นเบส ในน้ำอสุจินอกจากจะมีตัวอสุจิแล้วยังมีส่วนผสมของสารอื่นๆ ด้วย


    ::ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ::

    อวัยวะที่สำคัญของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย
    1. รังไข่ (Ovary) มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยาวประมาณ 2-36 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ2-3 กรัม และมี 2 อันอยู่บริเวณปีกมดลูกแต่ละข้างทำหน้าที่ ดังนี้
    1.1 ผลิตไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง โดยปกติไข่จะสุกเดือนละ 1 ใบ จากรังไข่แต่ละข้างสลับกันทุกเดือน และออกจากรังไข่ทุกรอบเดือนเรียกว่า การตกไข่ ตลอดช่วงชีวิตของเพศหญิงปกติจะมีการผลิตไข่ประมาณ 400 ใบ คือ เมตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึง 50 ปี จึงหยุดผลิต เซลล์ไข่จะมีอายุอยู่ได้นานประมาร 24 ชั่วโมง
    1.2 สร้างฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่
    •  อีสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำนม และควบคุมการเกิดลักษณะต่างๆ ของเพศหญิง เช่น เสียงแหลมเล็ก ตะโพกผาย หน้าอกและอวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้น
    •  โพรเจสเทอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่ทำงานร่วมกับอีสโทรเจนในการควบคุมเกี่ยวกับเกี่ยวกับการเจิญของมดลูก การเปลี่ยนแปลงเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมรับไข่ที่ผสมแล้ว
    2. ท่อนำไข่ (Oviduct) หรือปีกมดลูก (Fallopian Tube)
    เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก ภายในกลวง มีส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนาดปกติเท่ากับเข็มถักไหมพรมยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูกโดยมีปลายข้างหนึ่งเปิดอยู่ใกล้กับรังไข่ เรียกว่า ปากแตร (Funnel) บุด้วยเซลล์ที่มีขนสั้นๆ ทำหน้าที่พัดโบกไข่ที่ตกมาจากรังไข่ให้เข้าไปในท่อนำไข่ ท่อนำไข่เป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่
    3. มดลูก (Uterus) มีรูปร่างคล้ายผลชมพู หรือรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับลง กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ6-8 เซนติเมตร หนาประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ในบริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับทวารหนักภายในเป็นโพรง ทำหน้าที่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์
    4. ช่องคลอด (Vagina) อยู่ต่อจากมดลูกลงมา ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก เป็นทางออกของทารก
    เมื่อครบกำหนดคลอด และยังเป็นช่องให้ประจำเดือนออกมาด้วย

    ประจำเดือน (Menstruation) 
    คือเนื้อเยื่อผนังมดลูกด้านในและหลอดเลือดที่สลายตัวไหลออกมาทางช่องคลอด ประจำเดือนจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิเพศหญิงจะมีประจำเดือนตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีรอบของการมีประจำเดือนทุก 21-35 วันเฉลี่ยประมาณ 28 วัน จนอายุประมาณ 50 ปี จึงจะหมดประจำเดือนผู้หญิงจะมีช่วงระยะเวลาการมีประจำเดือนประมาณ 3-6 วัน ซึ่งจะเสียเลือดทางประจำเดือนแต่ละเดือนประมาณ 60-90 ลูกบาศก์เซนติเมตร ดังนั้นผู้หญิงจึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีน เพื่อสร้างเลือดชดเชยส่วนที่เสียไป การที่ผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเนื่องมาจากอารมณ์และความวิตกกังวลทำให้การหลั่งฮอร์โมนของสมองผิดปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุก คือ ฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) และฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) เซลล์ไข่มีขนาดใหญ่กว่าเซลล์อสุจิประมาณ 50,000-90,000 เท่า ขนาดของเซลล์ไข่ประมาณ 0.2 มิลลิเมตร เราสามารถมองเห็นเซลล์ไข่ได้ด้วยตาเปล่า


    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบประสาท (Nervous system)

    ระบบประสาท (Nervous System)     

                  คือ ระบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสัตว์ ทำให้สัตว์สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างรวดเร็วช่วยรวบรวมข้อมูล เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ สัตว์ชั้นต่ำบางชนิด เช่น ฟองน้ำไม่มีระบบประสาท สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดเริ่มมีระบบประสาท สัตว์ชั้นสูงขึ้นมาจีโครงสร้างของระบบประสาทซับซ้อนยิ่งขึ้น ระบบประสาทของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทรอบนอก
    :: ระบบประสาทส่วนกลาง ::
    ระบบประสาทส่วนกลาง (The Central Nervous System หรือ Somatic Nervous System)
     เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย ซึ่งทำงานพร้อมกันทั้งในด้านกลไกและทางเคมีภายใต้อำนาจจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยสมองและไขสันหลังโดยเส้นประสาทหลายล้านเส้นจากทั่วร่างกายจะส่งข้อมูลในรูปกระแสประสาทออกจากบริเวณศูนย์กลางมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องดังนี้
    1.สมอง(Brain)
    เป็นส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆของระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ควบคุมการทำกิจกรรมทั้งหมดของร่างกายเป็นอวัยวะชนิดเดียวที่แสดงความสามารถด้านสติปัญญา การทำกิจกรรมหรือการแสดงออกต่างๆสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่สำคัญแบ่งออกเป็น3 ส่วน ดังนี้
    1.1 เซรีบรัมเฮมิสเฟียร์ (Cerebrum Hemisphrer) คือ สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรรมที่ซับซ้อนเกี่ยวกับ ความรู้สึกและอารมณ์ ควบคุมความคิด ความจำ และความเฉลียวฉลาด เชื่อมโยงความรู้สึกต่างๆเช่น การได้ยิน การมองเห็น การรับกลิ่น การรับรส การรับสัมผัส เป็นต้น
    1.2 เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla Oblongata) คือ ส่วนที่อยู่ติดกับไขสันหลัง ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การหายใจการเต้นของหัวใจ การไอ การจาม การกะพริบตา ความดันเลือด เป็นต้น
    1.3 เซรีเบลลัม (Cerebellum) คือ สมองส่วนท้าย เป็นส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและการทรงตัวช่วยให้เคลื่อนไหว ได้อย่างแม่นยำเช่น การเดิน การวิ่ง การขี่รถจักรยาน เป็นต้น

    2. ไขสันหลัง (Spinal Cord) เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่ทอดยาวจากสมองไปภายในโพรงกระดูกสันหลัง กระแสประสาทจากส่วนต่างๆของร่างกายจะผ่านไขสันหลัง มีทั้งกระแสประสาทเข้าและกระแสประสาทออกจากสมองและกระแสประสาทที่ติดต่อกับไขสันหลังโดยตรง
    3. เซลล์ประสาท (Neuron) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของระบบประสาท เซลล์ประสาทมีเยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาสซึมและนิวเคลียสเหมือนเซลล์อื่นๆ แต่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างออกไป เซลล์ประสาทประกอบด้วยตัวเซลล์ และเส้นใยประสาทที่มี 2 แบบ คือ เดนไดรต์ (Dendrite) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์และแอกซอน (Axon) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์ไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ เซลล์ประสาทจำแนกตามหน้าที่ การทำงานได้3 ชนิด คือ
    3.1 เซลล์ประสาทรับความรู้สึก รับความรู้สึกจากอวัยวะสัมผัส เช่น หู ตา จมูก ผิวหนัง ส่งกระแสประสาทผ่านเซลล์ประสาทประสานงาน
    3.2 เซลล์ประสาทประสานงาน เป็นตัวเชื่อมโยงกระแสประสาทระหว่างเซลล์รับความรู้สึกกับสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาทสั่งการพบในสมองและไขสันหลังเท่านั้น
    3.3 เซลล์ประสาทสั่งการ รับคำสั่งจากสมองหรือไขสันหลัง เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ
    :: การทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ::
    สิ่งเร้าหรือการกระตุ้นจัดเป็นข้อมูลหรือเส้นประสาทส่วนกลางเรียกว่า “ กระแสประสาท ” เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่นำไปสู่เซลล์ประสาททางด้านเดนไดรต์ และเดินทางออกอย่างรวดเร็วทางด้านแอกซอน แอกซอนส่วนใหญ่ ่มีแผ่นไขมันหุ้มไว้เป็นช่วงๆ แผ่นไขมันนี้ทำหน้าที่เป็นฉนวนและทำให้กระแสประสาทเดินทางได้เร็วขึ้น ถ้าแผ่นไขมันนี้ฉีกขาดอาจทำให้กระแสประสาทช้าลงทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อ เนื่องจากการรับคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลางได้ไม่ดี


    ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral Nervous system)
             ทำหน้าที่รับและนำความรู้สึกเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางได้แก่ สมองและไขสันหลังจากนั้นนำกระแสประสาทสั่งการจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังหน่วยปฎิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกและอวัยวะรับสัมผัส รวมทั้งเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่อยู่นอกระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทรอบนอกจำแนกตามลักษณะการทำงานได้ 2 แบบ ดังนี้
    1. ระบบประสาทภายใต้อำนาจจิตใจ เป็นระบบควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่บังคับได้ รวมทั้งการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก
    2. ระบบประสาทนอกอำนาจจิตใจ เป็นระบบประสาทที่ทำงานโดยอัตโนมัติ มีศูนย์กลางควบคุมอยู่ในสมองและไขสันหลัง ได้แก่
    การเกิดรีเฟลกซ์แอกชัน (Reflex Action) และเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นที่อวัยวะรับสัมผัสเช่น ผิวหนัง กระแสประสาทจะส่งไปยังไขสันหลัง และไขสันหลังจะสั่งการตอบสนองไปยังกล้ามเนื้อ โดยไม่ผ่านไปที่สมอง เมื่อมีเปลวไฟมาสัมผัสที่ปลายนิ้วกระแสประสาทจะส่งไปยังไขสันหลังไม่ผ่านไปที่สมอง ไขสันหลังทำหน้าที่สั่งการให้กล้ามเนื้อที่แขนเกิดการหดตัว เพื่อดึงมือออกจากเปลวไฟทันที
    :: พฤติกรรมของมนุษย์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ::

    พฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของมนุษย์เป็นปฎิกิริยาอาการที่แสดงออกเพื่อการโต้ตอบต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกร่างกายเช่น
    • สิ่งเร้าภายในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ความหิว ความต้องการทางเพศ เป็นต้น
    • สิ่งเร้าภายนอกร่างกาย เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ อาหาร น้ำ การสัมผัส สารเคมี เป็นต้น
    กิริยาอาการที่แสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกอาศัยการทำงานที่ประสานกันระหว่างระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ
    ระบบต่อมไร้ท่อและระบบต่อมมีท่อ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    1. การตอบสนองเมื่อมีแสงเป็นสิ่งเร้า
    • เมื่อได้รับแสงสว่างจ้า มนุษย์จะมีพฤติกรรมการหรี่ตาเพื่อลดปริมาณแสงที่ตาได้รับ
    2. การตอบสนองเมื่ออุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า
    • ในวันที่มีอากาศร้อนจะมีเหงื่อมาก เหงื่อจะช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย เพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกายไม่ให้สูงเกินไป
    • เมื่อมีอากาศเย็นคนเราจะเกิดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อ หรือเรียกว่า “ ขนลุก ”
    3. เมื่ออาหารหรือน้ำเข้าไปในหลอดลมเกิดพฤติกรรมการไอหรือจาม เพื่อขับออกจากหลอดลม
    4. การเกิดพฤติกรรมแบบรีเฟลกซ์ เป็นพฤติกรรมการตอบสนองหรือตอบโต้ทันทีเพื่อความปลอดภัยจากอันตราย เช่น
    • เมื่อฝุ่นเข้าตามีพฤติกรรมการกระพริบตา
    • เมื่อสัมผัสวัตถุร้อนจะชักมือจากวัตถุร้อนทันที
    • เมื่อเหยียบหนามจะรีบยกเท้าให้พ้นหนามทันที

    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system)

    : ระบบน้ำเหลือง ::


    สารต่างๆในเซลล์จะถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หลอดเลือดด้วยระบบน้ำเหลืองโดยสัมพันธ์กับการไหลของเลือดในหลอดเลือดฝอย
     
    ระบบน้ำเหลืองมีส่วนประกอบ ดังนี้
    1. อวัยวะน้ำเหลือง เป็นศูนย์กลางผลิตเซลล์ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ต่อมทอนซิล ม้าม และต่อมไทมัส มีหน้าที่ผลิตสารต่อต้านเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
    2. ท่อน้ำเหลือง (lymph vessel) มีหน้าที่นำน้ำเหลืองเข้าสู่หลอดเลือดดำในระบบหมุนเวียนของเลือด
    3. น้ำเหลือง (lymph) มีลักษณะเป็นของเหลวใสอาบอยู่รอบๆ เซลล์ สามารถซึมผ่านเข้าออกผนังหลอดเลือดฝอยได้ มีหน้าที่เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสารระหว่างหลอดเลือดฝอยกับเซลล์ได้
    :: ระบบภูมิคุ้มกัน ::

    ร่างกายของคนเราที่มีสภาพภูมิคู้มกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ร่างกายซึ่งมีกลไกกำจัดสิ่งแปลกปลอม
    ตามธรรมชาติ ดังนี้
    1. เหงื่อเป็นสารที่ร่างกายขับจากต่อมเหงื่อออกมาที่บริเวณผิวหนังทั่วร่างกายสามารถป้องกันการเจริญเติบโต
      ของแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง
    2. น้ำตาและน้ำลาย ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
    3. ขนจมูกและน้ำเมือกในจมูก ช่วยป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจ
    4. เซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในเซลล์ร่างกายและท่อน้ำเหลือง สร้างสารต่อต้านเชื้อโรคที่เรียกว่า “ แอนติบอดี
      (Antibody)” เพื่อทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
    ระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเฉพาะโรค ที่เข้าสู่ร่างกายนั้นสร้างได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
    1. ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง เป็นวิธีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค
    เช่น การฉีดวัคซีนคุ้มกันโรคอหิวาตกโรค เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี เพื่อทำลายเชื้ออหิวาตกโรค
    ที่จะเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

    2. ภูมิคุ้มกันที่รับมา เป็นวิธีการให้แอนติบอดีแก่ร่างกายโดยตรง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันทันที เ ช่น การฉีดเซรุ่มแก้พิษงูใช้ฉีดเมื่อถูกงูกัด จะเกิดภูมิคุ้มกันทันที


    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบปกคลุมร่างกาย (Integumentary System)

    ระบบผิวหนัง

    ผิวหนังปกคลุมห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด ซึ่งภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย เพื่อรับรู้การสัมผัส การกด ความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น ระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อ และไขมันด้วย

    ผิวหนังยืดหยุ่นได้มาก บนผิวของหนังมีรูเล็กๆ อยู่ ทั่วไป รูเล็กๆ นี้ เป็นรูเปิดของขุมขน ท่อของต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ ผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีรอยนูนเป็นสันจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวาย หรือก้นหอย จึงใช้รอยพิมพ์ปลายนิ้วมือเป็นประโยชน์ในการแยกหรือ ทำนายบุคคลได้โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจาก รายละเอียดในการเรียงตัวของรอยนูนนี้ แตกต่างกันในแต่ละบุคคล

    บริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ ผิวหนังจะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ บริเวณใบหน้า มีกล้ามเนื้อมายึดติดที่หนังมาก จึงทำให้เกิด รอยย่น ซึ่งแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือเศร้าหมองได้
    โครงสร้างและส่วนประกอบของผิวหนัง
    ส่วนใหญ่ของร่างกาย ผิวหนังจะเลื่อนไปเลื่อนมาได้ แต่บางแห่งก็ติดแน่นกับอวัยวะภายใต้ เช่น หนังศีรษะ ด้านนอกของใบหู ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และตามรอยพับของข้อต่อต่างๆ

    ผิวหนังประกอบด้วย ๒ ส่วน

    ๑. ชั้นตื้น เรียกว่า หนังกำพร้า (epidermis)
     
    ๒. ชั้นลึก เรียกว่า หนังแท้ (dermis)

    หนังกำพร้า 

    คลุมอยู่บนหนังแท้ ความหนาของหนังกำพร้าแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หนาตั้งแต่ 0.3 ถึง 1 มิลลิเมตร หนังกำพร้าที่ฝ่ามือ
     และฝ่าเท้าหนาที่สุด และบางที่สุดที่หนังตา ชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือดเลย และประกอบด้วยเซลล์รูปร่างต่างๆ กันหลายชั้น ชั้นตื้นที่สุด ผิวเป็นเซลล์แบนๆ และตายแล้ว จะลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคล

    หนังแท้ 

    ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมา ส่วนตื้นของชั้นนี้
     ยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้า ในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือด และปลายประสาทรับความรู้สึก ส่วนลึกของหนังแท้จะมีแต่เส้นใยพังผืดประสานกันค่อนข้างแน่น ความยืดหยุ่นของผิวหนังที่อยู่เส้นใยพังผืด และเนื้อเยื่อใต้หนัง ในคนชรา เส้นใยพังผึดยึดหยุ่นลดน้อยลง จึงเกิดเป็นรอยย่น หย่อนยาน 

    หนังสัตว์ที่นำมาทำเป็นรองเท้า กระเป๋านั้น ก็คือส่วนของหนังแท้นั่น เอง ซึ่งเหนียว หนา และทนทาน ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก
     

    สีของผิวหนัง เกิดจากจำนวนเม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งอยู่ในเซลล์ชั้นลึกของหนังกำพร้า ถ้าเม็ดสีเมลานินมีมากก็ มีผิวดำ ถ้าเม็ดสีเมลานินมีน้อยก็มีผิวขาว ในที่บางแห่งผิวหนัง มีสีจัดขึ้น เช่น ที่บริเวณหัวนม ลานหัวนม รอบๆ ทวารหนัก และผิวหนังที่ถูกแสงแดดอยู่เสมอ สีของผิวหนังจึงอาจใช้ แบ่งแยกเชื้อชาติได้ เช่น พวกนิโกร มีเม็ดสีเมลานินมาก ตลอดความหนาของหนังกำพร้า ผิวจึงดำมาก พวกยุโรปมีเม็ดสีเมลานินน้อยผิวจึงขาว และพวกเอเชียมีเม็ดสีเมลานินปานกลาง ผิวจึงเหลือง โดยเฉพาะพวกสืบเชื้อสายชาวมองโกเลีย ผิวหนังรอบๆ ทวารหนักจะมีสีดำหรือเขียวมากกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
    นิ้วมือผ่าตามยาว แสดงให้เห็นเล็บและรากเล็บ
    นิ้วมือผ่าตามยาว แสดงให้เห็นเล็บและรากเล็บ
    สีของผิวหนัง นอกจากจะเกิดจากเม็ดสีเมลานินแล้ว ยังเกิดจากสีของเลือดในหนังแท้ด้วย ซึ่งทำให้ผิวมีสีชมพูจัด ในคนที่มีเลือดสมบูรณ์ดี และทำให้ผิวซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนั้นยังขึ้นกับความหนาของผิวหนังด้วย จะเห็นได้ในเด็กทารก มีผิวหนังบาง จึงมีผิวสีชมพู
    หน้าที่ของผิวหนัง 

    ในการที่ผิวหนังห่อหุ้มร่างกายไว้ทั้งหมด จึงมีหน้าที่
     

    ๑. ช่วยป้องกันอวัยวะที่อยู่ลึกทั่วไปจากอันตราย และ การแทรกซึมของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ
     
    ๒. ป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกาย และป้องกันมิให้น้ำในร่างกายระเหยออกไป
     
    ๓. ผิวหนังจะหนาตัวขึ้น เมื่อผิวหนังส่วนนั้นถูไถ กับสิ่งอื่นบ่อยๆ
     

    ขณะเดียวกันผิวหนังยังเป็นอวัยวะด้วย ซึ่งมีหน้าที่
     

    ๑. รับความรู้สึกต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยที่มีปลาย ประสาทรับความรู้สึกหลายชนิด และจำนวนมาก เช่น เจ็บ สัมผัส กด และร้อนเย็น
     

    ๒. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยระบาย ความร้อนออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง
     

    ๓. ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย โดยต่อมเหงื่อ ขับเหงื่อ จึงทำหน้าที่ช่วยไตขับถ่ายของเสียจากร่างกาย ซึ่งเห็นชัดในหน้าร้อนจะมีเหงื่อออกมาก
     

    ๔. เป็นแหล่งสร้างวิตามินดี ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของแสงอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ต่อสเตอรอล (sterol) ในผิวหน้า ป้องกันโรคกระดูกอ่อน
     

    ผิวหนังทั้งหมดที่ห่อหุ้มร่างกายผู้ใหญ่ มีเนื้อที่ ประมาณ ๑.๗ ตารางเมตร
     

    การเจริญเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เพื่อเป็นอวัยวะป้องกันอันตรายนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้มากมายในสัตว์ต่างๆ เช่น ในจระเข้ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นแผ่นหนา ในคางคก เจริญเป็นต่อมพิษ ในปลาเปลี่ยนเป็นเกล็ดและต่อมเมือก

    สิ่งที่เจริญเปลี่ยนแปลงไปจากผิวหนัง

    เล็บ

    เจริญมาจากหนังกำพร้า เป็นแผ่นแข็งยืดหยุ่นได้ อยู่ ทางด้านหลังของปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าปล้องสุดท้าย
     

    เล็บมีลักษณะโปร่งแสง มีส่วนที่ยื่นพ้นปลายนิ้ว ซึ่งไม่มี หลอดเลือดและประสาทมาเลี้ยง ซึ่งเป็นส่วนที่เราตัดออก และตกแต่งให้สวยงามได้
     

    ส่วนของเล็บที่ฝังอยู่ในหนัง เรียกว่า
     รากเล็บ และสองข้างของเล็บมีผิวหนังยื่นมาคลุมเล็กน้อย

    ทางด้านลึกของเล็บมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย ดังนั้นเมื่อเป็นฝี มีดบาดหรือหนามตำใต้เล็บ จึงเจ็บปวดมาก และมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก สีของเลือดจึงสะท้อนผ่านเล็บ ทำให้เล็บมีสีชมพูในคนปกติ ในขณะเป็นโรคโลหิตจางจะมีสีซีดขาว
    การงอกของเล็บเฉลี่ยประมาณ ๑ มิลลิเมตร ใน ๑ สัปดาห์ หรือ ๓ มิลลิเมตร ใน ๑ เดือน เล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือ เมื่อเล็บถูกดึงหลุดไป จะมีเล็บใหม่งอกขึ้นมาได้

    ขนหรือผม

    ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก

    ขนเจริญเกือบทั่วทั้งร่างกาย ยกเว้นในบางแห่งเท่านั้น เช่น หัวนม สะดือ ขอบปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และด้านหลังของนิ้วปล้องสุดท้าย
     

    ขนมีความยาว ความหยาบ ความหนาแน่น รูปร่าง
     และสีแตกต่างกันในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ลักษณะของขนเหล่านี้แตกต่างกันตามอายุ เพศ และเชื้อชาติด้วย เช่น เชื้อชาติมองโกเลียนมีเส้นผมกลมและตรง เชื้อชาตินิโกรมีเส้นผมแบนและหยิก และเชื้อชาติคนผิวขาวมีเส้นผมรูปรีและหยักศก
    ผิวหนังตัดตามยาว แสดงให้เห็นขนหรือผม

    ผิวหนังตัดตามยาว
     
    แสดงให้เห็นขนหรือผม

    ขนหรือผมประกอบด้วย สารที่ไม่นำความร้อน ดังนั้นจึงช่วยป้องกันความร้อนได้ เช่น นำขนสัตว์มาทำเสื้อกันหนาว ขนในที่บางแห่งหนาแน่น ก็ป้องกันการเสียดสีกระทบกระเทือนได้ สัตว์บางชนิดใช้ขนเป็นอวัยวะรับความรู้สึก เช่น แมวหากินกลางคืน ก็อาศัยหนวดคลำทาง
    ขนทุกเส้นประกอบด้วย เส้นขน รากขน และขุมขน

    เส้นขน เป็นส่วนของขนที่โผล่พ้นผิวหนังขึ้นมา

    รากขน เป็นส่วนที่ฝังอยู่ในรูผิวหนังเฉียง ๆ ดังนั้นเส้นขนจึงเอ ียง เฉียง ๆ ด้วย ส่วนลึกของรากขนโป่งเป็นกระเปาะและมีส่วนของหนังแท้ยื่น เข้าไปภายในกระเปาะนี้ 

    ขุมขน เป็นส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ ยื่นลึกเข้าไปถึงเยื่อใต้หนัง มาประกอบเป็นท่อล้อมรอบรากขน มีท่อของต่อมไขมันมาเปิดสู่ชุมชน 

    การเจริญของขน 

    ขนงอกยาวขึ้นเรื่อยๆ จนยาวเต็มที่ ตามชนิด และตำแหน่งที่อยู่ของขนนั้น แล้วก็หยุดงอกไประยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น ก็จะร่วงหลุดไป อายุของขนรวมถึงระยะหยุดงอกก่อนจะหลุดนั้น แตกต่างกันตามชนิดและตำแหน่งของขน เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ มีอายุประมาณ ๓-๔ เดือน ขนอ่อนตามร่างกายอายุประมาณ ๔ เดือนครึ่ง ผมอายุ ๔ ปี

    ในคน จะเริ่มมีขนตั้งแต่เดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์
     ขนจะล่วงหลุด ไป และงอกขึ้นใหม่เสมอ ขนชุดแรกมีลักษณะละเอียดอ่อน ไม่มีสี เรียกว่า ขนละเอียด ต่อไปมีขนชุดที่สอง เกิดขึ้นแทนที่ขนชุดแรก เรียกว่า ขนอ่อน เมื่อเข้าวัยรุ่น มีขนหยาบกว่า ยาวกว่า และสีเข้มกว่านี้ ขึ้นทดแทนขนชุดที่สองในที่บางแห่ง เรียกว่า ขนชุดสุดท้าย

    ส่วนใหญ่ของร่างกายมีขนอ่อนอยู่ทั่วไป อาจมีขนอ่อนชนิดเดียว พบได้ที่หน้า คอ และลำตัวของหญิง ที่แขน ขา และศรีษะมีขนอ่อน และขนชุดสุดท้ายรวมกัน ขนชุดสุดท้าย อย่างเดียว ได้แก่ คิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนจมูก และขนหัวหน่าว ที่ศีรษะส่วนใหญ่เป็นขนชุดสุดท้าย แต่อาจะมีขนอ่อนปะปนบ้าง

    กล้ามเนื้อขนลุก 

    เป็นกล้ามเนื้อเรียบ ยึดเกาะหนังกำพร้าชั้นลึก ไปถึง ผนังชั้นนอกของขุมขนทางด้านมุมป้าน เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ก็ทำให้รากขน และเส้นขนตั้งชันขึ้น ในขณะเดียวกันก็บีบ ต่อมไขมัน ซึ่งอยู่ตรงมุมระหว่างขุมขนกับกล้ามเนื้อขับไขมันออกมา

    ต่อมไขมัน 

    เป็นต่อมรูปกระเปาะเล็กๆ อยู่ในหนังแท้ พบได้ใน ผิวหนังเกือบทั้งหมดที่มีขน มีมากที่หนังศีรษะ ใบหน้า รอบๆ รูเปิดต่างๆ คือ ทวารหนัก จมูก ปาก และรูหู แต่บางแห่ง ก็ไม่มีต่อมไขมันเลย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
    ผิวหนัง แสดงให้เห็นต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ
    ผิวหนัง แสดงให้เห็นต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ
    ส่วนก้นของต่อมกว้างออกเป็นรูปกระเปาะ ๑-๕ กระเปาะ แต่มีท่ออันเดียวไปเปิดสู่ขุมขน ยกเว้นที่บริเวณลานหัวนม ท่อเปิดสู่ผิวหนังโดยตรง

    ขนาดของต่อมไม่สัมพันธ์กับขนาดของคน เช่น ทารก ในครรภ์และเด็กเกิดใหม่ขุมขนเล็กแต่ต่อมไขมันโต ที่จมูกและใบหน้า มีต่อมไขมันมากจึงเป็นมันอยู่เสมอ 

    ต่อมไขมันเกิดขึ้นในเดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์ เจริญ จากหนังกำพร้าที่เป็นผนังของขุมขน
     

    ต่อมที่รูหูดัดแปลงเป็นต่อมขี้หู สารที่หลั่งออกมาจะ แข็งตัวเมื่อถูกอากาศเป็นขี้หู
     

    ต่อมเหงื่อ 

    พบได้ในผิวหนังเกือบทุกแห่งของร่างกาย มีจำนวนมากมาย ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งมีท่อเปิดที่ยอดของสันผิวหนัง
     

    ต่อมมีลักษณะเป็นท่อยาว ส่วนลึกของท่อขดไปมาจน เป็นก้อนกลมหรือก้อนรูปไข่ ขนาด ๐.๑-๐.๕ มิลลิเมตร อยู่ในเยื่อใต้หนังหรือในส่วนลึกของหนังแท้ ส่วนนี้ทำหน้าที่หลั่งเหงื่อ ส่วนตื้นของท่อผ่านหนังแท้และหนังกำพร้า เปิดสู่ผิวเป็นรู รูปกรวยเล็กๆ เรียกว่า รูเหงื่อ ซึ่งอาจเห็นได้เมื่อใช้แว่นขยาย โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

    บางแห่งไม่มีต่อมเหงื่อ เช่น หัวนม ขอบริมฝีปาก แอ่ง ใบหู และส่วนลึกของรูหู
     

    ต่อมเหงื่อทั้งหมดมีประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ต่อม มีมาก ที่สุดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และน้อยที่สุดที่หลังและขา
     

    ต่อมเหงื่อเจริญจากหนังกำพร้าชั้นลึก งอกลึกลง ไปในหนังแท้และเยื่อใต้หนัง เริ่มปรากฏที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในเดือนที่ ๔ ของทารกในครรภ์ ท่อต่อมเหงื่อจะเปิดสู่ผิวในเดือนที่ ๗ ของทารกในครรภ์
     

    เหงื่อออกจากต่อมเหงื่อทั้งหมดประมาณ ๗๐๐-๙๐๐ กรัม ใน ๒๔ ชั่วโมง เมื่ออากาศร้อน ขณะพักผ่อนเหงื่อออก ๒๐๐ กรัม ใน ๑ ชั่วโมง และขณะทำงานอาจออกถึง ๙๐๐ กรัมใน ๑ ชั่วโมง เหงื่อจะเริ่มออกเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ ๐.๒-๐.๕ องศาเซลเซียส แต่ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าไม่มีปฏิกิริยาต่อ อุณหภูมิ เหงื่ออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เท่ากัน เหงื่อ ออกจากลำตัว ประมาณ ๕๐% จากศรีษะและแขนประมาณ ๒๕% และจากขาประมาณ ๒๕%

    เหงื่อมีฤทธิ์เป็นกรดจากกรดแล็กติก และประกอบด้วย โซเดียมคลอไรด์เป็นส่วนใหญ่มี ยูเรีย (Urea) และแล็กเตต (lactate) เล็กน้อย


    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

    ระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ สร้างและหลั่งพวกฮอร์โมน (Hormones) แล้วส่งออกนอกตัวเซลล์โดยผ่านทางกระแสเลือด หรือน้ำเหลืองไปยังเป้าหมาย คือ อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไร้ท่อบางชนิดสร้างฮอร์โมน ออกมาร่วมทำงาน หรือถูกควบคุมการหลั่งโดยระบบประสาท เรียกว่า neuroendocrine system เช่น ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) เป็นต้น

    โดยทั่วไป ประกอบด้วย สองส่วนหลักคือ...
    1. Parenchyma (เนื้อต่อม) ประกอบด้วย เซลล์เนื้อผิวชนิดที่ เรียกว่า secretory cells และเป็นเซลล์สำคัญที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเซลล์เหล่านี้ อาจเรียงตัวเป็นกลุ่ม (clumps) ขดเป็นกลุ่ม (cord) หรือแผ่น (plates) โดยมีเส้นเลือดฝอยชนิด fenestrated หรือ sinusoid capillaries และเส้นน้ำเหลือง จำนวนมากแทรก เพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยง และลำเลียงฮอร์โมน ออกจากเนื้อต่อมเข้าสู่วงจรไหลเวียน ของกระแสเลือดไปกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ ตามเป้าหมาย (target organs) ที่อยู่ห่างไกล
    2. Stroma (โครงร่างพยุงเนื้อต่อม) ประกอบด้วย เนื้อประสานโดยให้เป็นเปลือกหุ้ม และโครงร่างให้เซลล์ของเนื้อต่อมเกาะ ในต่อมไร้ท่อบางชนิดพบมีส่วน ของเปลือกหุ้มยื่นเข้าไปแบ่งเนื้อต่อม ออกเป็นส่วน เรียกว่า Trabaeculae

    ต่อมไร้ท่อแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
    1. ต่อมที่พบอยู่เดี่ยว ได้แก่
    I. ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland หรือ Hypophysis) มีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วย เนื้อประสาน เนื้อต่อมแบ่งย่อยออกเป็น 4 ส่วนคือ
    1. Pars Anterior (Pars distalis) ส่วนนี้มีลักษณะคล้ายต่อมประกอบด้วย เซลล์ 2 ชนิดคือ
    a) Chromophils เป็นเซลล์ที่ชอบติดสี แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด (ศึกษาจากการ ย้อมด้วย H&E ) 1. Acidophils เซลล์ชนิดนี้ cytoplasm ติดสีชมพู พบส่วนใหญ่บริเวณ - ส่วนกลางของ pars distalis 2. Basophils เป็นเซลล์ที่ cytoplasm ติดสีน้ำเงินเข้มและมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์ ชนิดแรก พบบ่อยบริเวณรอบนอกของ pars distalis

    b) Chromophobe เป็นเซลล์ที่ไม่ชอบติดสี มีขนาดเล็กที่สุดเล็ก ภายใน cytoplasm ไม่บรรจุ granules มักพบเป็นกลุ่มเห็นแต่เฉพาะนิวเคลียส 2. Pars Intermedia มีลักษณะเป็นกลุ่มของถุงน้ำ (colloid-filled follicles) เปลือกของถุงน้ำดาดด้วยเซลล์ชั้นเดียวขนาดเล็กติดสีน้ำเงินเข้ม 3. Pars Nervosa and Infundibular Stalk ส่วนนี้มีลักษณะ เหมือนเนื้อประสาท เซลล์ที่พบใน pars nervosa คือ pituicytes มีลักษณะคล้าย neuroglial cells (เซลล์พยุงของเซลล์ประสาท) นอกจากนั้นพบ unmyelinated nerve fibers ที่มีบริเวณส่วนปลาย ขยายออกและบรรจุ neurosecretions ที่เรียกว่า Herring bodies
    2. Pars Tuberalis ส่วนนี้ประกอบด้วยเซลล์ทรงลูกเต๋าที่เรียงตัว ม้วนเป็นขด อาจจะพบมีลักษณะเป็นถุงน้ำที่บรรจุ colloid

    II. ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) มีเปลือกหุ้มและยื่นให้เป็น septa แทรก เข้าไปในเนื้อต่อม เซลล์ของเนื้อต่อมมีลักษณะเป็น colloid-filled follicles โดยเปลือกหุ้ม ถุงน้ำ ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิดคือ
    1. Follicular cells เป็น simple cuboidal epithelium (ส่วนใหญ่) สร้างและหลั่ง iodine-containing hormone T3 และ T4
    2. Parafollicular cells (clear cells) แทรกอยู่กับ follicular cells สร้างและหลั่ง Calcitonin

    III. ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) มีเปลือกหุ้มและ septa ลักษณะ ของพวกเซลล์เรียงตัวเป็นแผ่น ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิด
    1. Chief cells พบจำนวนมาก พวกเซลล์มีขนาดเล็กแต่มีนิวเคลียสค่อนข้างใหญ่

    2. Oxyphils พบจำนวนน้อย พวกเซลล์มีขนาดใหญ่ cytoplasm ติดสีกรด (ชมพู) และ มักอยู่กันเป็นกลุ่มๆ

    IV. ต่อมหมวกไต (Suprarenal หรือ Adrenal gland) มีเปลือกหุ้มเนื้อต่อม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพราะมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน คือ

    1. Cortex เนื้อต่อมส่วนนอกกำเนิดมาจาก mesodermal cells แบ่งย่อย ออกเป็น 3 บริเวณตามลักษณะของขนาด รูปร่าง และการเรียงตัวของพวกเซลล์ โดยมีเส้นเลือดฝอยชนิด sinusoidal capillaries แทรกได้แก่

    a) Zona Glomerulosa พบอยู่ใต้เปลือกที่หุ้มการเรียงตัวของเซลล์ มี ลักษณะขดเป็นกลุ่ม คล้าย glomerulus ของเนื้อไต b) Zona Fasciculata พบอยู่ถัดลงมา เนื้อต่อมส่วนนี้หนาที่สุด เซลล์รียงตัว เป็นแท่ง และมีลักษณะรูปทรงลูกเต๋า ภายในเซลล์ใสบางครั้งเรียกเซลล์ชนิดนี้ว่า spongiocyte c) Zona Reticularis พบอยู่ด้านในสุดของเนื้อต่อมส่วนนอก ประกอบด้วย เซลล์ขนาดเล็ก ติดสีเข้ม และต่อเนื่องกันคล้ายร่างแห

    2. Medulla เนื้อต่อมส่วนในสุดมีแหล่งกำเนิดมาจาก neural crest cells ประกอบด้วยเซลล์ขนาดใหญ่ ภายใน cytoplasm บรรจุ granules เรียกเซลล์ชนิดนี้ว่า chromaffin cells นอกจากนั้นยังพบ autonomic ganglion cells ขนาดใหญ่ ลักษณะสำคัญของเนื้อต่อมส่วนนี้คือพบว่ามี เส้นเลือดดำขนาดใหญ่บรรจุอยู่

    V. ต่อมไพเนียล (Pineal gland) เปลือกที่หุ้มมาจาก pia mater มี septa แทรกในเนื้อต่อม ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิดคือ
    1. Pinealocytes เป็นเซลล์ที่มีนิวเคลียสขนาดใหญ่
    2. Neuroglial cells เป็นเซลล์ขนาดเล็กมีนิวเคลียสติดสีเข้มกว่าเซลล์ชนิดแรก ลักษณะสำคัญในเนื้อต่อมไพเนียลคือพบ Brain Sand (corpora arenacea) มีลักษณะเป็น calcified accretions ติดสีม่วงเข้ม

    2. พวกเซลล์ต่อมไร้ท่อที่กระจัดกระจายหรือเป็นกลุ่ม

    โดยพบอยู่ร่วมกับพวกเซลล์ต่อมมีท่อ หรือร่วมกับอวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น Islets of Langerhans of pancreas,Interstitial cells of Leydig in testis และ APUD cells (Amine Precursor Uptake and Decarboxylation) ซึ่งกลุ่มเซลล์ชนิดหลังสุดประกอบด้วย hormone-secreting cells สร้างและหลั่ง สารเคมีที่มีโครงสร้างคล้าย peptides และ active amines สารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนหรือ neuro- transmitters พบเซลล์เหล่านี้ กระจัดกระจายแทรกในเนื้อผิว ที่ดาดในท่อทางเดินอาหาร ทางเดินลมหายใจ ในระบบไตและทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น APUD cells มีบางตัวกำเนิดมาจาก neuroectoderm เซลล์ในกลุ่มนี้บางตัว สามารถสาธิตให้เห็นในบทที่เกี่ยวกับ อวัยวะเหล่านั้น ยกเว้นพวก APUD cells เพราะส่วนใหญ่บ่งชี้ได้ ต้องย้อมสีพิเศษ หรือศึกษาในระดับ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน



    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/home.php

    ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulatory System)

    หัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
    เลือด (Blood) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นของเหลว 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรียกว่า “ น้ำเลือดหรือ
    พลาสมา (plasma)”และส่วนที่เป็นของแข็งมี 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด
    1. น้ำเลือดหรือพลาสมา
          ประกอบด้วยน้ำประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์ ทำหน้าที่ลำเลียงเอนไซม์ ฮอร์โมน แก๊ส แร่ธาตุ วิตามินและ
    สารอาหารประเภทต่างๆที่ผ่านการย่อยอาหารมาแล้วไปให้เซลล์และรับของเสียจากเซลล์ เช่น ยูเรีย
    แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ ส่งไปกำจัดออกนอกร่างกาย
    2. เซลล์เม็ดเลือด ประกอบด้วย
    2.1 เซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell)

           มีลักษณะค่อนข้างกลมตรงกลางจะเว้าเข้าหากัน ( คล้ายขนมโดนัท ) เนื่องจากไม่มีนิวเคลียส องค์ประกอบส่วนใหญ่
    เป็นสารประเภทโปรตีนที่เรียกว่า “ ฮีโมโกลบิน ” ซึ่งมีสมบัติในการรวมตัวกับแก๊สต่างๆ ได้ดี เช่น แก๊สออกซิเจน
    แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
         หน้าที่ แลกเปลี่ยนแก๊ส โดยจะลำเลียงแกสออกซิเจน ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และลำเลียงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
    จากส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับไปที่ปอด
         แหล่งสร้างเม็ดเลือดแดง คือ ไขกระดูก ผู้ชายจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้หญิง เซลล์เม็ดเลือดแดงมีอายุ
    ประมาณ 110-120 วัน หลังจากนั้นจะถูกนำไปทำลายที่ตับและม้าม     
    2.2 เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell)
          มีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่มีสีและมีนิวเคลียส เม็ดเลือดขาวในร่างกายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
          หน้าที่ ทำลายเชื้อโรคหรือสารแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย
          แหล่งที่สร้างเม็ดเลือดขาว คือ ม้าม ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง มีอายุประมาณ 7-14 วัน
    3. เกล็ดเลือดหรือแผ่นเลือด (blood pletelet)
          ไม่ใช่เซลล์แต่เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ซึ่งมีรุปร่างกลมรีและแบนเกล็ดเลือดมีอายุประมาณ4วัน
          หน้าที่ ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีการไหลของเลือดจากหลอดเลือดออกสู่ภายนอก
    ::หัวใจ (Heart)::   

    หัวใจ (Heart) ทำหน้าที่ สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยทำให้เกิดความดันเลือดในหลอดเลือดแดง
    เพื่อให้เลือดเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทั่วถึง




    ::วงจรการไหลเวียนเลือด::     
         วงจรการไหลเวียนเลือด เริ่มจากหัวใจห้องบนซ้ายรับเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงจากปอดแล้วบีบตัวดันผ่านลิ้นหัวใจ
    ลงสู่หัวใจห้องล่างซ้ายแล้วบีบตัวดันเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและเปลี่ยนเป็นเลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง
    หรือเลือดดำไหลผ่านหลอดเลือดดำหัวใจห้องบนขวาแล้วบีบตัวดันผ่านลิ้นหัวใจลงสู่ห้องล่างขวา แล้วกลับเข้าสู่ปอดเพื่อ
    แลกเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแก๊สออกซิเจน เป็นวัฎจักรการหมุนเวียนเลือดในร่างกายเช่นนี้ตลอดไป

    การไหลเวียนเลือดภายในหัวใจ


    การไหลเวียนเลือดไปทั่วร่างกาย
                                 

    ::หลอดเลือด ::

         หลอดเลือด ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย และเป็นเส้นทางให้เลือดจากอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ    
    หลอดเลือดในร่างกายมี 3 ชนิด     
    1. หลอดเลือดแดง (artery) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดดีจากหัวใจไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายหลอดเลือดแดงมี
    ผนังหนาแข็งแรง และไม่มีลิ้นกั้นภายใน เลือดที่อยู่ในหลอดเลือดแดงเป็นเลือดที่มีปริมาณแก๊สออกซิเจนสูง
    หรือเรียกว่า “ เลือดแดง ”ยกเว้นหลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกจากหัวใจไปยังปอดภายในเป็นเลือดที่มีปริมาณ
    แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากหรือเรียกว่า “ เลือดดำ ”
         2. หลอดเลือดดำ (vein) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดดำจากส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าสู่หัวใจหลอดเลือดดมีผนังบางกว่าหลอดเลือดแดง มีลิ้นกั้นภายในเพื่อป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ เลือดที่ไหลอยู่ภายในหลอดเลือดจะเป็นเลือดที่มีปริมาณแก๊สออกซิเจนต่ำ ยกเว้นหลอดเลือดดำที่นำเลือดจากปอดเข้าสู่หัวใจ จะเป็นเลือดแดง
         3. หลอดเลือดฝอย (capillary) เป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่าวหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำสานเป็นร่างแหแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย มีขนาดเล็กและละเอียดเป็นฝอยและมีผนังบางมากเป็นแหล่งที่มีการแลกเปลี่ยนแก๊สและสารต่างๆ ระหว่างเลือดกับเซลล์
    ::::

        ความดันเลือด ( blood pressure)หมายถึงความดันในหลอดเลือดแดงเป็นส่วนใหญ่เกิดจากบีบตัวของหัวใจ
    ที่ดันเลือดให้ไหลไปตามหลอดเลือดความดันของหลอดเลือดแดงที่อยู่ใกล้หัวใจจะมีความดันสูงกว่าหลอดเลือดแดงที่อยู่ไกลหัวใจ ส่วนในหลอดเลือดดำจะมีความดันต่ำกว่าหลอดเลือดแดงเสมอความดันเลือดมีหน่วยวัดเป็น
    มิลลิเมตรปรอท (mmHg) เป็นตัวเลข 2 ค่าคือ
    • ค่าความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว และค่าความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว เช่น 120/80 มิลลิเมตรปรอท
      ค่าตัวเลข 120 แสดงค่าความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจ
      เรียกว่า 
      ความดันระยะหัวใจบีบตัว (Systolic Pressure)
    • ส่วนตัวเลข 80 แสดงความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว เพื่อรับเลือดเข้าสู่หัวใจ
      เรียกว่า
       ความดันระยะหัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure)
         เครื่องมือวัดความดันเลือดเรียกว่า “ มาตรความดันเลือด จะใช้คู่กับสเตตโตสโคป (stetoscope)'' โดยจะวัด
    ความดันที่หลอดเลือดแดง
         ปกติความดันเลือดสูงสุดขณะหัวใจบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจมีค่า 100 + อายุ และความดันเลือดขณะหัวใจ
    รับเลือดไม่ควรเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกินจะเป็นโรคความดันเลือดสูง ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น
    หลอดเลือดตีบตัน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โกรธง่ายหรือเครียดอยู่เป็นประจำ พบมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีจิตใจอยู่ในสภาวะเครียด นอกจากนี้ยังเกิดจากอารมณ์โกรธทำให้ร่างกายผลิตสารชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งสารนี้จะมีผลต่อ
    การบีบตัวของหัวใจโดยตรง
         ชีพจร หมายถึง การหดตัวและการคลายตัวของหลอดเลือดแดง ซึ่งตรงกับจังหวะการเต้นของหัวใจคนปกติหัวใจเต้นเฉลี่ยประมาณ 72 ครั้งต่อนาที การเต้นของชีพจรแต่ละคนจะแตกต่างกันปกติอัตราการเต้นของชีพจรในเพศชายจะสูงกว่าเพศหญิง
    ปัจจัยที่มีผลต่อความดันเลือด มีดังนี้
    1. อายุ ผู้สูงอายุมีความดันเลือดสูงกว่าเด็ก
    2. เพศ เพศชายมีความดันเลือดสูงกว่าเพศหญิง ยกเว้นเพศหญิงที่ใกล้หมดประจำเดือนจะมีความดันเลือด
      ค่อนข้างสูง
    3. ขนาดของร่างกาย คนที่มีร่างกายขนาดใหญ่มักมีความดันเลือดสูงกว่าคนที่มีร่างกายขนาดเล็ก
    4. อารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์เครียด วิตกกังวล โกรธหรือตกใจง่ายทำให้ความดันเลือดสูงกว่าคนที่อารมณ์ปกติ
    5. คนทำงานหนักและการออกกำลังกาย ทำให้มีความดันเลือดสูง
    ที่มา http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/lesson/lesson2.php